เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 สำนักงานเคมีภัณฑ์ยุโรป (European Chemicals Agency: ECHA) ได้ยื่นข้อเสนอ (Proposal for a Restriction) ไปยังคณะกรรมาธิการยุโรปเกี่ยวกับการจำกัดการใช้ไมโครพลาสติก (microplastics) โดยตั้งใจ (intentionally added) ในผลิดภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้เพื่อการบริโภคหรือในวิชาชีพ เช่น เครื่องสำอาง ผงซักฟอกและผลิตภัณฑ์บำรุงรักษา สีและสารเคลือบ วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในภาคการเกษตร และผลิตภัณฑ์เคมีในอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊ส

ECHA ยื่นข้อเสนอดังกล่าวเนื่องจากไมโครพลาสติกก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแหล่งน้ำ และอาจปะปนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์เนื่องจากไมโครพลาสติกและนาโนพลาสติกเป็นอนุภาคขนาดเล็ก ดังนั้น หากข้อเสนอดังกล่าวได้รับการอนุมัติ จะเป็นการช่วยลดปริมาณการใช้     ไมโครพลาสติกในอียูได้ถึง 4 แสนตัน ภายใน 20 ปีหลังจากที่ข้อเสนอมีผลบังคับใช้ และหากข้อเสนอได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมาธิการยุโรปจะมีผลบังคับใช้ประมาณปี 2563

ข้อเสนอกำหนดมาตรการ 3 ประเภทดังนี้

  1. การจำกัดการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ที่ผลิตจากไมโครพลาสติกหรือมีไมโครพลาสติกเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากการปล่อยไมโครพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อมได้
  2. ข้อกำหนดด้านการติดฉลาก ที่ต้องระบุปริมาณไมโครพลาสติกที่เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ รวมถึงให้ข้อมูลวิธีการใช้และการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อช่วยลดความเสี่ยง/ผลกระทบของไมโครพลาสติกที่มีต่อสภาพแวดล้อม ในกรณีที่ผลิตภัณฑ์ได้รับการออกแบบเพื่อไม่ให้มีการปล่อยไมโครพลาสติกสู่สิ่งแวดล้อม เช่น มีระบบป้องกันการรั่วไหลตลอดการใช้งานเพื่อให้ไมโครพลาสติกถูกเผาทำลายพร้อมผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน หรือมีกลไกที่ทำให้ไมโครพลาสติกเปลี่ยนสภาพไปเป็นสสารอย่างอื่นที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  3. ข้อกำหนดด้านการรายงานข้อมูล เพื่อปรับปรุงคุณภาพของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้ไมโครพลาสติก เพื่อให้คณะกรรมาธิการฯ และประเทศสมาชิกอียูทราบถึงการใช้ไมโครพลาสติก และสามารถประเมินความเสี่ยงรวมถึงกำหนดรูปแบบการดำเนินการเพิ่มเติมในการควบคุมการใช้ไมโครพลาสติกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในระยะ 5-10 ปีข้างหน้า

ข้อเสนอดังกล่าวได้กำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน (transitional period) เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และให้ภาคอุตสาหกรรมได้พัฒนา ปรับตัวและปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุทางเลือกอื่นที่เหมาะสม รวมถึงการเลือกใช้โพลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (biodegradable polymers) ทั้งนี้ อียูได้กำหนดช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านสำหรับบางอุตสาหกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง  ให้ระยะเวลา 4-6 ปี  ผลิตภัณฑ์ปุ๋ย ให้ระยะเวลา 5-10 ปี และ ผลิตภัณฑ์ผงซักฟอก แว๊กซ์และเครื่องขัดที่มีการใช้ไมโครพลาสติกอื่นๆ นอกเหนือจากไมโครบีดส์ ให้ระยะเวลา 5 ปี เป็นต้น

นอกจากนั้นยังระบุการจำกัดการใช้ไมโครพลาสติกโดยตั้งใจ  เช่น ห้ามวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นไมโครพลาสติกหรือมีไมโครพลาสติกเป็นส่วนผสม ในความเข้มข้นเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 0.01 ต่อน้ำหนักผลิตภัณฑ์ (0.01% w/w) นับจากช่วงเวลาที่มีผลบังคับใช้ โดยแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์จะมีระยะเวลาบังคับใช้แตกต่างกันในช่วงระยะเวลา 6 ปีนับจากข้อเสนอนี้มีผลบังคับใช้ และจะมีข้อยกเว้นสำหรับผลิตภัณฑ์บางอย่าง เช่น ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ใช้สำหรับมนุษย์และทางการสัตวแพทย์ และ ของผสม (mixtures) ที่ประกอบด้วยไมโครพลาสติกที่ถูกใช้ในเขตอุตสาหกรรม เป็นต้น

ประเทศสมาชิกในอียูบางประเทศได้ยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์บางชนิดที่มีส่วนผสมของไมโครพลาสติกแล้ว โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสำหรับทำความสะอาดและล้างสิ่งสกปรก (wash-off cosmetic products) เช่น สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศสยกเลิกการใช้ไมโครบีดส์ (microbeads) เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัวสำหรับทำความสะอาดเมื่อมกราคม 2561 เบลเยียม วางแผนยกเลิกการใช้ไมโครบีดส์ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทุกประเภทและผลิตภัณฑ์ยาสีฟันภายในปี 2562 ไอร์แลนด์ วางแผนห้ามการผลิตและใช้ผลิตภัณฑ์บางอย่างที่มีส่วนผสมของไมโครบีดส์ โดยแผนดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ แต่ได้เปิดรับฟังความเห็นสาธารณะเมื่อปี 2561 อิตาลี ยกเลิกการซื้อขายผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางขัดผิวที่ใช้สำหรับทำความสะอาดและล้างสิ่งสกปรก ตั้งแต่กรกฎาคม 2563

ข้อเสนอการยกเลิกใช้ไมโครพลาสติกสะท้อนว่า อียูมุ่งเน้นแก้ปัญหาการใช้พลาสติกและพยายามลดปริมาณขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์การจัดการกับพลาสติก (European Strategy for Plastics) ที่คณะกรรมาธิการฯ ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2561 อีกทั้งอียูยังมุ่งผลักดันสร้างมาตรฐานให้แก่อุตสาหกรรมในอียูให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีแค่บางประเทศสมาชิกของอียูเท่านั้นที่มีมาตรการจำกัดการใช้ไมโครพลาสติก

ดังนั้น หากข้อเสนอดังกล่าวมีผลบังคับใช้ อาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทยที่ผลิตสินค้าที่ถูกจำกัดปริมาณไมโครพลาสติกภายใต้ข้อกำหนดของอียูและมีการส่งออกไปยังอียู เช่น เครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์สำหรับทำความสะอาดต่างๆ ดังนั้นผู้ประกอบการอาจต้องเตรียมพร้อมในการพัฒนาปรับการผลิตโดยใช้วัสดุทางเลือกอื่นเพื่อทดแทนการใช้ไมโครพลาสติก หรือทำการศึกษาวิจัยการนำวัสดุจากธรรมชาติที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงมาใช้แทนกันได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ขจัดเซลล์ผิวที่ตายแล้วที่มีส่วนผสมจากเกลือ มะขามเปียก ผงถั่วเขียว ซึ่งมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับไมโครบีดส์ ซึ่งนอกจากจะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับสินค้าที่ส่งออกมายังอียูให้เป็นไปตามเงื่อนไขการจำกัดปริมาณไมโครพลาสติกแล้ว ยังเป็นการผลิตสินค้าโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมถึงสอดคล้องกับ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะกำหนดการลดและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งรวมถึงไมโครบีดส์ ภายในปี 2562 ด้วย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://bit.ly/2Xf2OMK