เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 EU ได้จัดการประชุม เรื่อง “Innovative bio-based products: Investment, Environmental Impacts and Future Perspectives” เพื่อนำเสนอทิศทางนโยบายของอียูในการพัฒนาวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (bio-based products) และนำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ การส่งเสริมการพัฒนาวัตถุดิบทดแทนยางพาราเพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อไทยในอนาคต (ดาวน์โหลด Presentation และรายละเอียดการประชุมได้ ที่นี่)

EU เห็นชอบจัดทำ Raw Material Initiative เมื่อปี 2551 เพื่อเป็นกรอบนโยบายในการใช้วัตถุดิบที่มีความสำคัญต่อภาคการผลิตของอียูได้อย่างยั่งยืน โดยได้จัดทำรายการวัตถุดิบสำคัญหรือ Critical Raw Materials (CRMs) ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจแต่มีปริมาณจำกัด และปรับปรุงรายการทุก 3 ปี (ครั้งที่ 1 เมื่อปี 2554 ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2557 และครั้งที่ 3 เมื่อปี 2560) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประเมินความเสี่ยงสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาวัตถุดิบเหล่านี้ รวมถึงการเจรจา ความตกลงทางการค้าต่างๆ ตลอดจนการสร้างความตระหนักรู้ในการใช้วัตถุดิบให้เกิดประโยชน์สูงสุด และการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทดแทน

EU เร่งพัฒนาวัตถุดิบทดแทนยางพารา ชูคุณสมบัติไม่กระทบต่อสุขภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รายการวัตถุดิบ CRMs ที่จัดทำขึ้นในปี 2560 ได้ระบุให้ยางธรรมชาติที่สกัดจากต้นฮีเวีย (Hevea Brasiliensis) หรือที่รู้จักในชื่อยางพารา ซึ่งมีการปลูกอย่างแพร่หลายในประเทศไทย เนื่องจากมีปริมาณน้ำยางมากที่สุดและมีคุณภาพสูง เป็นหนึ่งในรายการวัตถุดิบ CRMs ที่อียูเร่งสนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบทดแทน เนื่องจากปัจจุบันอียูต้องพึ่งพาการนำเข้ายางพาราในปริมาณที่สูงอย่างต่อเนื่อง โดยมีปริมาณนำเข้าในปี 2560 มากถึง 1,289,563 ตัน เพิ่มจากปี 2556 ถึง 145,406 ตัน จัดเป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากจีน

รายงานการศึกษาที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัย Bologna และสถาบันวิจัย Fraunhofer ภายใต้การสนับสนุนของ EU ระบุว่า พืชที่มีโอกาสเป็นแหล่งผลิตน้ำยางธรรมชาติได้ในอนาคต คือ ต้นวายูเล่ (Guayule) ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับยางพาราและสามารถใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนยางพาราได้ โดยสามารถใช้ในการผลิตสินค้า เช่น ล้อรถบรรทุกและเครื่องบิน ส่วนประกอบรถยนต์ ชุดดำน้ำ ถุงมือยางและอุปกรณ์การแพทย์อื่นๆ เป็นต้น ทั้งนี้ การพัฒนาน้ำยางจากต้นวายูเล่มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Prototype) และทำการทดสอบแล้ว และคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 5 – 10 ปี ในการผลิตเพื่อจำหน่าย

การศึกษายังพบด้วยว่า น้ำยางจากต้นวายูเล่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากไม่มีโปรตีนที่ทำให้เกิดอาหารแพ้เมื่อเทียบกับน้ำยางจากยางพารา อีกทั้งยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากว่ายางพารา เนื่องจากไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลง มีความต้องการสารอาหารต่ำ และสามารถทนต่อสภาพแห้งแล้งได้สูง โดยประเมินว่า การผลิตยางรถยนต์ด้วยน้ำยางจากต้นวายูเล่จะส่งผลให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง 6% ถึง 30% เทียบกับการผลิตยางรถยนต์ด้วยยางพารา

ดาวน์โหลดรายงาน Top Emerging Bio-based Products ที่นี่

Top emerging bio-based products

ประเทศไทยควรปรับตัวอย่างไร

จากข้อมูลปี 2560 อียูเป็นตลาดส่งออกยางพารา (พิกัด 4001) อันดับที่ 3 ของไทย (สัดส่วนตลาด 8.38% หรือประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท) รองจากจีน (48.45%) และมาเลเซีย (12.86%) ขณะที่อียูนำเข้ายางพาราจากไทยเป็นอันดับที่ 2 (20%) ถัดจากอินโดนีเซีย (32%) โดยประเทศไทยมีตลาดหลักอยู่ในเยอรมนี ฝรั่งเศส และ สเปน

จะเห็นได้ว่า EU พยายามชู 3 ประเด็นหลัก คือ 1) คุณภาพของน้ำยางจากต้นวายูเล่ ที่เทียบเท่ายางพารา 2) ประเด็นด้านสุขภาพ และ 3) ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับกระแสการต่อต้านน้ำมันปาล์ม ที่หลายฝ่ายนำประเด็นผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมารณรงค์ให้ลดการบริโภคน้ำมันปาล์ม ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่านิยมการบริโภคของคนในยุโรปอย่างกว้างขวาง  จึงมีความเป็นไปได้ว่า ในอนาคตเมื่อผู้ประกอบการในอียูสามารถผลิตวัตถุดิบทดแทนยางพาราในเชิงพาณิชย์ได้ อาจมีการนำประเด็นผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมมาใช้ในการรณรงค์ต่อต้านยางพาราและสินค้าจากยางพาราได้

หน่วยงานและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจึงควรพิจารณาเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น อาทิ การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อสร้างตลาดในประเทศแทนการพึ่งพาการส่งออก/เพิ่มมูลค่าสินค้าส่งออกแทนการส่งออกเป็นวัตถุดิบ การวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพสินค้าและประสิทธิภาพการผลิตให้สามารถแข่งขันกับวัตถุดิบทดแทนประเภทอื่นๆ ได้ ตลอดจนการวางนโยบายการส่งเสริมการปลูกยางพาราให้เหมาะสมกับอนาคตความต้องการของตลาด


Photo licensed under Creative Commons Zero (CC0) license