ตามที่ คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกกฎระเบียบ Novel Food ฉบับใหม่  Regulation (EU) 2015/2283  ซึ่งภายใต้กฎระเบียบใหม่ได้เปิดแนวทางให้ประเทศที่สามสามารถขึ้นทะเบียนอาหารพื้นบ้าน (Traditional food) ที่มีประวัติว่า อาหารนั้นเคยมีการบริโภคในประเทศที่สาม เป็นเวลามาไม่น้อยกว่า 25 ปี ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2561 อย่างไรก็ดี คณะกรรมาธิการยุโรปยังไม่ได้ออกข้อกำหนดเกี่ยวกับการขอขึ้นทะเบียนที่เกี่ยวข้อง นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2560 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศ Commission Implementing Regulation (EU) 2017/2468 of 20 December 2017 laying down administrative and scientific requirement concerning traditional foods from third countries in accordance with Regulation (EU) 2015/2283 of the European Parliament and of the Council on novel food ใน EU Official Journal L 351/55 ซึ่งเป็นการออกข้อกำหนดในการขอขึ้นทะเบียนอาหารพื้นบ้านจากประเทศที่สามภายใต้กรอบ Novel Food สรุปสาระสำคัญของประกาศดังกล่าว ดังนี้

  1. ภายใต้มาตรา 14 และมาตรา 16 ของ Regulation (EU) 2015/2283 กำหนดการยื่นคำร้องในการส่งสินค้าอาหารพื้นบ้านไปจำหน่ายยังสหภาพยุโรปออกเป็น 2 ประเภท คือ

1.1 การยื่นคำร้องเพื่อแจ้งเรื่อง (notification): คือการแจ้งความประสงค์เกี่ยวกับสินค้าที่ต้องการส่งไปจำหน่ายยังสหภาพยุโรป (อาทิ การแจ้งแก้ไขเงื่อนไขการใช้ การแจ้งข้อกำหนดเฉพาะ การแจ้งการติดฉลากเพิ่มเติม เป็นต้น) ซึ่งจะต้องทำการส่งทางจดหมายอิเลคทรอนิคส์ อันประกอบไปด้วยโครงสร้าง เนื้อหา และการนำเสนอ ดังต่อไปนี้

  • หนังสือปะหน้า (ตามแบบฟอร์มที่กำหนดในภาคผนวก)
  • ข้อมูลทางเทคนิค (ข้อมูลทางการบริหารจัดการ ตามมาตรา 5 (ชื่อ ที่อยู่รายละเอียดของผู้ติดต่อในนามของผู้ยื่นคำร้องกับคณะกรรมาธิการยุโรป วันที่ยื่นคำร้อง สารบัญของข้อมูล รายละเอียดของเอกสารแนบ หัวข้อที่อ้างถึง ปริมาณ จำนวนหน้า รายชื่อข้อมูลที่ให้เก็บรักษาเป็นความลับ)และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ตามมาตรา 6 (ข้อมูลประเมินผลความปลอดภัยในการบริโภค สำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้อง รายละเอียดกลยุทธ์ของการประเมินความปลอดภัย  การแสดงผลการศึกษาวิจัยหรือข้อมูลที่ควรคำนึงถึงและที่ไม่คำนึงถึง ผู้ยื่นคำร้องต้องนำเสนอข้อสรุปทั่วไปเกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้/การบริโภคอาหารพื้นบ้าน การประเมินผลความเสี่ยงทั่วไปสำหรับสุขภาพของผู้บริโภคจะคำนึงถึงกลุ่มบุคคลที่เป็นที่ประจักษ์หรือที่มีความเป็นไปได้)
  • ข้อมูลโดยสรุป ซึ่งต้องประกอบด้วยหลักฐานการใช้อาหารพื้นบ้านในประเทศที่สามนั้นๆ ตามเงื่อนไขมาตรา 7 ของ Regulation (EU) 2015/2283
  • ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องแจ้งการขอเปลี่ยนเงื่อนไขการใช้งาน ข้อกำหนดเฉพาะข้อกำหนดการติดฉลากเฉพาะ หรือข้อกำหนดในการควบคุมหลังการขายสินค้าอาหารพื้นบ้านที่ได้รับอนุญาตจากประเทศที่สาม ในกรณีดังกล่าว ทางผู้ยื่นคำร้องไม่จำเป็นต้องส่งมอบข้อมูลทั้งหมดตามระบุในมาตรา 6 หากเป็นการแจ้งการแก้ไขจากผลการประเมินความปลอดภัยที่มีอยู่เดิม

1.2 การยื่นคำร้องเพื่อขอขึ้นทะเบียนสินค้าอาหารพื้นบ้าน (application): ที่ต้องการส่งไปจำหน่ายยังสหภาพยุโรป ซึ่งจะต้องทำการส่งทางจดหมายอิเลคทรอนิคส์ อันประกอบไปด้วย โครงสร้าง เนื้อหา และการนำเสนอ ดังต่อไปนี้

  • หนังสือปะหน้า (ตามแบบฟอร์มที่กำหนดในภาคผนวก)
  • ข้อมูลทางเทคนิค (ข้อมูลทางการบริหารจัดการ ตามมาตรา 5 และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ตามมาตรา 6)
  • ข้อมูลโดยสรุป ซึ่งต้องประกอบด้วยหลักฐานการใช้อาหารพื้นบ้านในประเทศที่สามนั้นๆ ตามเงื่อนไขมาตรา 7 ของ Regulation (EU) 2015/2283
  • ข้อโต้แย้งความปลอดภัยที่สมเหตุสมผล ตามระบุในมาตรา 15 (2) ของRegulation (EU) 2015/2283
  • คำตอบของผู้ยื่นคำร้องต่อข้อโต้แย้งความปลอดภัยอย่างมีสมเหตุสมผล

ในกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องแจ้งการขอเปลี่ยนเงื่อนไขการใช้งาน ข้อกำหนดเฉพาะข้อกำหนดการติดฉลากเฉพาะ หรือข้อกำหนดในการควบคุมหลังการขายสินค้าอาหารพื้นเมืองที่ได้รับอนุญาตจากประเทศที่สาม ในกรณีดังกล่าว ทางผู้ยื่นคำร้องไม่จำเป็นต้องส่งมอบข้อมูลทั้งหมดตามระบุในมาตรา 6 หากเป็นการแจ้งการแก้ไขจากผลการประเมินความปลอดภัยที่มีอยู่เดิม

  1. คณะกรรมาธิการยุโรปได้กำหนดแบบฟอร์มหนังสือเพื่อใช้ปะหน้าคำร้องสำหรับการขึ้นทะเบียนอาหารพื้นบ้าน 3 รายการ คือ :

2.1 แบบฟอร์มหนังสือปะหน้าคำร้องแจ้งเรื่อง (Template cover letter accompanying a notification for traditional food from a third country following the requirements of Article 14 of Regulation (EU) 2015/2283)

2.2 แบบฟอร์มหนังสือปะหน้าคำร้องขอขึ้นทะเบียน (Template cover letter accompanying an application for traditional food from a third country following the requirements of Article 14 of Regulation (EU) 2015/2283)

2.3 ตารางรายชื่อข้อมูลที่ให้เก็บรักษาเป็นความลับ โดยให้ระบุเหตุผล

  1. การตรวจสอบความถูกต้องของคำร้องเพื่อแจ้งเรื่องอาหารพื้นบ้านจากประเทศที่สาม : หลังจากที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้รับคำร้องและตรวจสอบความถูกต้องตาม มาตรา 3, 5, และ 6 ของ Regulation (EU) 2017/2468 แล้ว ทางคณะกรรมาธิการยุโรปสามารถเรียกขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ อนุโลมให้ผู้ยื่นคำร้องไม่ต้องส่งมอบเอกสารตามมาตรา 3, 5, และ 6 ของ Regulation (EU) 2017/2468 หากผู้ยื่นคำร้องสามารถนำส่งข้อมูลที่สอดคล้องกับข้อมูลที่ขาดหายได้ และในกรณีที่คำร้องไม่ถูกต้อง ทางคณะกรรมาธิการยุโรปจะทำการแจ้งต่อผู้ยื่นคำร้อง ประเทศสมาชิก และหน่วยงานความปลอดภัยอาหารประจำสหภาพยุโรปถึงเหตุผลว่าเหตุใดคำร้องจึงไม่ถูกต้องครบถ้วน
  1. การตรวจสอบความถูกต้องของคำร้องเพื่อขอขึ้นทะเบียนอาหารพื้นบ้านจากประเทศที่สาม : หลังจากที่คณะกรรมาธิการยุโรปได้รับคำร้องเพื่อขอขึ้นทะเบียนและตรวจสอบความถูกต้องตามมาตรา 4 – 6 ของ Regulation (EU) 2017/2468 แล้ว ทางคณะกรรมาธิการยุโรปสามารถเรียกขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ อนุโลมให้ผู้ยื่นคำร้องไม่ต้องส่งมอบเอกสารตามมาตรา 4 – 6 ของ Regulation (EU) 2017/2468  หากผู้ยื่นคำร้องสามารถนำส่งข้อมูลที่สอดคล้องกับข้อมูลที่ขาดหายได้ และในกรณีที่คำร้องไม่ถูกต้อง ทางคณะกรรมาธิการยุโรปจะทำการแจ้งต่อผู้ยื่นคำร้อง ประเทศสมาชิก และหน่วยงานความปลอดภัยอาหารประจำสหภาพยุโรปถึงเหตุผลว่าเหตุใดคำร้องจึงไม่ถูกต้องครบถ้วน
  1. การโต้แย้งความปลอดภัยที่สมเหตุสมผล: เมื่อคณะกรรมาธิการยุโรปได้รับคำร้องที่ถูกต้องแล้ว จะมีการหารือกันระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรป ประเทศสมาชิก และหน่วยงานความปลอดภัยอาหารประจำสหภาพยุโรปในช่วง 3 เดือนแรก ตามระบุในมาตรา 15 (2) ของ Regulation (EU) 2015/2283 การโต้แย้งความปลอดภัยที่สมเหตุสมผลที่กระทำโดยประเทศสมาชิกหรือหน่วยงานความปลอดภัยอาหารประจำสหภาพยุโรปกับทางคณะกรรมาธิการยุโรป ต้องประกอบด้วยข้อมูลดังนี้ ชื่อและคุณลักษณะของอาหารพื้นเมืองจากประเทศที่สาม และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่บ่งชี้ว่าอาหารพื้นบ้านดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของสุขภาพผู้บริโภค
  1. ข้อมูลที่จะถูกระบุอยู่ในข้อคิดเห็นของหน่วยงานความปลอดภัยอาหารประจำสหภาพยุโรป :
  • เอกลักษณ์และคุณลักษณะของอาหารพื้นบ้านจากประเทศที่สาม
  • การประเมินประวัติการใช้ที่ปลอดภัยในประเทศที่สาม
  • การประเมินความเสี่ยงโดยรวมเพื่อกำหนดความปลอดภัยของอาหารพื้นบ้านจากประเทศที่สามและระบุความไม่แน่นอนและข้อจำกัดหากว่ามี
  • บทสรุป
  • คณะกรรมาธิการยุโรปสามารถเรียกขอข้อมูลเพิ่มเติมจากข้อคิดเห็นของหน่วยงานความปลอดภัยอาหารประจำสหภาพยุโรปได้

7. การอนุโลมช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน : คณะกรรมาธิการยุโรปอนุโลมช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่มีการยื่นคำร้องตามระบุในมาตรา 35 (2) ของ Regulation (EU) 2015/2283 ให้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมาธิการยุโรปอย่างช้าสุดได้ไม่เกินวันที่ 1 มกราคม 2562                                                                                                        8.

สำหรับรายละเอียดที่เกี่ยวข้องสามารถศึกษาได้จากเวปไซต์ดังนี้

http://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32017R2468&qid=1516361446468&from=en

  1. กฎระเบียบฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ 20 วันภายหลังจากที่ประกาศใน EU Official Journal (ประกาศในวันที่ 30 ธันวาคม 2560)

ข้อคิดเห็น : กฎระเบียบ Novel food ฉบับใหม่ของ EU ได้เปิดช่องทางให้อาหารพื้นบ้าน (Traditional food) ที่มีประวัติการบริโภคอย่างปลอดภัยในประเทศที่สาม แต่ไม่เคยถูกนำเข้าหรือบริโภคใน EU มาก่อน ให้สามารถส่งเข้าไปจำหน่ายยัง EU ได้ด้วยการยื่นคำร้องและมีหลักฐาน ยืนยันว่าเคยมีการบริโภคในประเทศต้นทางมาไม่น้อยกว่า 25 ปี จากเดิมที่กำหนดไว้ว่า จะต้องมีหลักฐานว่า เคยมีการส่งออกไปยัง EU ก่อนปี 2540 รวมถึงกระบวนการพิจารณาต้องใช้เวลานานเฉลี่ยราว 3.5 ปี ดังนั้น การปฏิรูปกฎระเบียบ Novel food ครั้งนี้จะช่วยลดขั้นตอนและค่าใช้จ่าย รวมถึงอุปสรรค ในการส่งอาหารประเภทพื้นบ้านไปได้มาก


โดย สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำสหภาพยุโรป
Photo licensed under Creative Commons Zero (CC0) license